หลายคนอาจจะเคยเจอกับปัญหา “ขนคุด” เพราะการโกนขน การแวกซ์ การถอนขน ฯลฯ เป็นปัญหาผิวหนังที่ค่อนข้างสร้างความรำคาญ และทำให้ไม่สบายตัวอย่างมากด้วยเหมือนกัน นอกจากนั้นในบางรายอาจมีอาการขนคุดรุนแรงอาจนำไปสู่การอักเสบ และติดเชื้อได้ วัตสันเลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาทำความเข้าใจกับเจ้าขนคุดที่กวนใจ ว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง และมีวิธีรักษายังไง ลองตามไปดูต่อในบทความได้เลย
ขนคุดคืออะไร?
ขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นลักษณะอาการของผิวหนังที่มีการอุดตันของรูขุมขน ในบริเวณที่มีการอุดตันจะมีตุ่มบวมนูนที่รูขุมขนขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขนคุดในบริเวณที่มีผิวแห้ง หยาบกร้าน เมื่อสัมผัสหรือลูบคลำจะรู้สึกผิวสสสาก ไม่เรียบเนียน เช่น แขนส่วนบน ต้นขา ก้น ใบหน้า แก้ม เป็นต้น
ขนคุดเกิดขึ้นที่บริเวณไหนได้บ้าง?
1. แขนและขา
เป็นบริเวณแขนและขามีพื้นที่กว้าง และมักสัมผัสกับอากาศและมลภาวะเป็นประจำ และยังเป็นจุดที่ไม่ค่อยได้ทาสกินแคร์บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น จึงมีโอกาสเกิดขนคุดที่ขาได้ง่าย
2. รักแร้
บริเวณที่มักเสียดสีกับเสื้อผ้า และเป็นจุดที่หลายคนนิยมกำจัดขน หากทำไม่ถูกวิธี จะทำให้ผิวระคายเคือง และเกิดขนคุดได้
3. ผิวกายและแผ่นหลัง
บริเวณที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ภายใต้ร่มผ้า หากดูแลความสะอาดไม่ทั่วถึง แล้วเกิดการสะสมแบคทีเรียและเชื้อโรค มักมีปัญหาสิวและขนคุดตามมาได้
4. แก้มและใบหน้า
บริเวณบนใบหน้ามีขนอ่อนขนาดเล็ก และมีรูขุมขนเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการอุดตันได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ชายที่โกนหนวดเคราบ่อย ๆ ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดขนคุด
5. จุดซ่อนเร้น
ในบริเวณอวัยวะเพศและแก้มก้น เป็นจุดที่ผิวบอบบางมากกว่าจุดอื่น ๆ มักเกิดปัญหาอับชื้น และเสียดสีกับเสื้อผ้า จึงทำให้มีโอกาสเกิดขนคุดได้

อาการของขนคุด
ขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กเล็ก และจะส่วนใหญ่จะเกิดอาการ เช่น มีตุ่มเล็ก ๆ นูนขึ้นตามผิวหนังบริเวณจุดที่มีเส้นขน มักเกิดขึ้นที่แขนส่วนบน ต้นขา แก้มหรือก้น และจะไม่ทำให้เกิดอาการคันและเจ็บ โดยบริเวณผิวหนังที่เกิดตุ่ม บริเวณนั้นจะมีลักษณะแห้งและหยาบกร้าน
สาเหตุของขนคุดเกิดจากอะไร?
ขนคุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในการสะสมของเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการการติดเชื้อหรือป้องกันการดูดซึมสารอันตรายต่าง ๆ เมื่อมีการสะสมของเคราตินทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณรูขุมขน เลยทำให้ขนไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติและเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง
ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ ศึกษาได้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมของเคราติน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมหรือภาวะทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) นอกจากนั้นขนคุดยังมีโอกาสเกิดได้มากในคนผิวแห้ง และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะมีความชื้นในอากาศน้อย
เมื่อไรที่ควรพบแพทย์?
สำหรับอาการของ “ขนคุด” ตามปกติแล้วไม่ได้มีความร้ายแรงมาก อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้าเกิดรู้สึกไม่สบายใจหรือเกิดความวิตกกังวล สามารถไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อขอคำปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไขได้

การรักษาขนคุด
1. การถอนขนคุด
การรักษาขนคุดสามารถรักษาได้ด้วยการถอน สามารถใช้ได้ในกรณีที่เส้นขนโผล่ขึ้นมาบริเวณผิวหนังเล็กน้อย ด้วยการใช้แหนบค่อย ๆ หนีบดึงขนคุดออกมาก็สามารถช่วยให้ขนคุดหายได้ แต่ไม่ควรทำแรงเกินไป อาจทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบและระคายเคืองได้
2. ขัดผิวหรือสครับผิวสม่ำเสมอ
การขัดผิวหรือสครับผิวสม่ำเสมอ จะเป็นการผลัดเซลล์ผิวไม่ให้อุดตันในรูขุมขน จะช่วยให้ผิวบริเวณที่เป็นขนคุดบางลง ทำให้กำจัดขนคุดออกไปได้ง่าย และแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ใยบวบขัดผิว ขมิ้น มะขามเปียก ฯลฯ ช่วยในการขัดขนคุด จะหลุดออกไปแล้วยังทำให้ผิวขาวและเรียบเนียนอีกด้วย
3. ประคบอุ่น
ลองใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบในตำแหน่งที่เป็นขนคุด ส่วนใหญ่วิธีนี้จะเหมาะกับบริเวณพื้นที่กว้าง ๆ เช่น ขา ช่วยให้รูขุมขนเปิดและขนคุดอ่อนลง ตุ่มนูนบนผิวหนังมีขนาดเล็กลง ผิวเรียบเนียนขึ้น รวมถึงช่วยบรรเทาอาการปวดในกรณีที่มีอาการรูขุมขนอักเสบ เป็นหนองได้
4. เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ
ถ้าเกิดมีขนคุด ร่วมกับผิวอักเสบ ผิวแห้ง และมีอาการคัน นอกจากการดูแลรักษาผิวจากอาการขนคุดเบื้องต้น ลองเปิดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อให้บรรยากาศในห้องไม่แห้งจนเกินไป ช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคืองได้
5. ใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้น
สำหรับขนคุดที่มีอาการแย่ลงเพราะผิวแห้ง หรือจากสภาพอากาศที่แห้ง ลองเลือกผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้น และมอยส์เจอไรเซอร์ บำรุงเพิ่มความชุ่มชื้นและผิวแข็งแรง และแนะนำให้เลือกสูตรที่ผ่านการทดสอบ Non-comedogenic เพราะจะไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดภาวะรูขุมขนอุดตัน
6. ยากำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว
ขนคุดสามารถรักษาได้ด้วยการทายา อย่างยากำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เช่น ยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี, กรดแลคติก, กรดซาลิไซลิก, หรือยูเรีย จะช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว แต่ตัวยาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก และการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
7. การเลเซอร์รักษาขนคุด
การทำเลเซอร์เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาขนคุดที่หลายคนนิยม เพราะเห็นผลได้ดีและรวดเร็ว แต่อาจจะใช้งบประมาณค่อนข้างมากสักหน่อย ด้วยการเลเซอร์ขน ไม่ว่าจะเป็น Diode Laser หรือ Yag Laser วิธีนี้สามารถทำลายรากขนที่พยายามแทงผิวออกมาได้อย่างตรงจุด ทำให้ตุ่มนูนยุบลง ผิวเรียบเนียน โดยไม่เป็นอันตรายกับผิวบริเวณใกล้เคียง
8. ครีมป้องกันการอุดตันของรูขุมขน
ครีมป้องกันการอุดตันของรูขุมขน อย่างเช่น ยาเตรทติโนอิน ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเซลล์และป้องกันการอุดตันของรูขุมขน แต่มีข้อเสียที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง และผิวแห้งได้ รวมถึงเป็นอันตรายต่อผู้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
9. การทำ IPL (Intense Pulsed Light)
การทำเลเซอร์ไอพีแอล (Intense Pulsed Light: IPL) หรือเพาซ์ดายเลเซอร์ (Pulse Dye Laser) จะช่วยในการลดอาการแดงที่ผิวหนัง แต่จะไม่สามารถลดความหยาบหรือผิวที่ขรุขระได้ หรือบางรายอาจแนะนำให้ทำเลเซอร์กำจัดขน

วิธีการป้องกันขนคุด
1. ไม่แกะหรือเกาบริเวณที่เป็นขนคุดเด็ดขาด
การแกะหรือเกาบริเวณที่เป็นขนคุด จะทำให้ผิวเกิดแผล เกิดรอยดำและรอยแดงตามมา อาจจะทำให้ต้องมีการรักษารอยต่าง ๆ เพิ่มเติมมากขึ้นด้วย แนะนำไม่ให้แกะหรือเกาบริเวณขนคุด แล้วเปลี่ยนมาเป็นการประคบอุ่นแทน
2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป
การอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป จะทำให้ไขมันที่ผิว ถูกกำจัดไป และทำให้ผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้นได้ง่าย ซึ่งบริเวณที่ผิวมีความแห้งมักจะเกิดขนคุด แนะนำให้อาบน้ำในอุณหภูมิปกติ หรือถ้าหากจำเป็นต้องอาบน้ำอุ่น ก็ไม่ควรอาบนาน หรือแช่น้ำนานจนเกินไป
3. ควรใช้ครีมบำรุงที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำ
นอกจากไม่ควรอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป และไม่ควรแช่น้ำนาน หลังจากอาบน้ำควรบำรุงผิวด้วยโลชั่น หรือมอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิว แนะนำให้เลือกเป็นโลชั่นที่เหมาะกับสภาพผิวของเรา สำหรับผิวแห้งมากเป็นขุย ควรเลือกโลชั่นบำรุงผิวที่ช่วยเติมน้ำให้ผิว
4. หลีกเลี่ยงการใช้โลชัน หรือน้ำหอมทาผิว ที่มีส่วนผสมของพาราเบน
โลชัน หรือน้ำหอมทาผิว ที่มีส่วนผสมของพาราเบน สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดเรติโนอิก และสเตียรอยด์ สารเหล่านี้มีส่วนทำให้ผิวอ่อนแอ และไวต่อมลภาวะต่าง ๆ และอาจก่อให้ผิวเกิดการระคายเคือง ติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย จึงควรเลี่ยงโลชัน หรือน้ำหอมทาผิว ที่มีส่วนผสมเหล่านี้ไว้
5. หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดรูป
การใส่เสื้อผ้ารัดรูปจะทำให้ผ้าเกิดการเสียดสีกับผิวมากขึ้น เพื่อลดการเสียดสีในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ควรใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง ใส่สบาย ไม่รัดจนเกินไป โดยเฉพาะหลังจากการทำเลเซอร์ขน เช่น หลังเลเซอร์รักแร้ เลเซอร์บราซิลเลี่ยน
6. หมั่นทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย
การทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายให้หมดจด จะช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขนได้ และแนะนำให้ใช้น้ำในอุณภูมิปกติ เพราะเมื่ออาบน้ำร้อนหรืออยู่ในน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ไขมันที่ผิวหนังถูกกำจัดไปและทำให้ผิวแห้ง และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดขนคุดขึ้นได้
7. เลือกผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง
ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยชำระล้าง ทำความสะอาดบางตัว อาจนำความชุ่มชื้นออกจากผิวด้วย จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง มีสารเติมความชุ่มชื้นจากธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้, เซราไมด์, ไฮยาลูรอนิก แอซิด เป็นต้น
8. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย วันละ 2-3 ลิตร หรือ 6-8 แก้วต่อวัน จะช่วยะป้องกันปัญหาผิวแห้งกร้านจากภาวะขาดน้ำ ทำให้ระบบในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ส่งผลให้ผิวชุ่มชื้น แข็งแรง ไม่แห้งกร้าน ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดขนคุดได้อีกด้วย
9. ทาครีมกันแดด
รังสี UVA และ UVB มีส่วนทำร้ายผิว ให้เกิดปัญหาผิวมากมาย ตัวอย่างเช่น ทำให้ผิวอ่อนแอ แห้งกร้าน แก่กว่าวัย และทำให้ผิวไหม้แดด เพื่อไม่ให้เกิดผิวแห้งกร้าน ที่เป็นสาเหตุของขนคุด แนะนำให้ปกป้องผิวด้วยการทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน
สำหรับใครที่มีปัญหาขนคุดกวนใจ สามารถนำวิธีการรักษาขนคุด และการป้องกันขนคุดไปปรับใช้กันได้ และนอกจากการดูแลรักษาผิวจากขนคุด อีกหนึ่งสิ่งที่ควรใส่ใจก็คือผลิตภัณฑ์ที่คุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งที่ Watsons มีให้เลือกหลากหลาย สามารถไปช้อปได้ทั้งที่ร้านค้าและออนไลน์ได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.pobpad.com/%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94
https://www.vsquareclinic.com/tips/what-causes-ingrown-hairs/
https://www.eucerin.co.th/skin-concerns/acne-prone-skin/kerotosis-pilaris?